(แฟ้มภาพซินหัว : ธงชาติสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ วันที่ 21 เม.ย. 2020)
ซานฟรานซิสโก, 24 เม.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันพุธ (23 เม.ย.) กลุ่มแนวร่วม 12 รัฐของสหรัฐฯ ได้แก่ แอริโซนา โคโลราโด คอนเนตทิคัต เดลาแวร์ อิลลินอยส์ เมน มินนิโซตา เนวาดา นิวเม็กซิโก นิวยอร์ก โอเรกอน และเวอร์มอนต์ ได้ยื่นฟ้องร้องฝ่ายบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับศาลการค้าระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ในนครนิวยอร์ก ฐานกำหนดการจัดเก็บ "ภาษีศุลกากรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย" พร้อมร้องขอให้ศาลออกคำสั่งระงับการจัดเก็บภาษีศุลกากรดังกล่าว
คำฟ้องระบุว่านโยบายภาษีศุลกากรดังกล่าวทำให้นโยบายการค้าระดับประเทศตกอยู่ภายใต้การกระทำตามอำเภอใจของทรัมป์มากกว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเหมาะสม จึงร้องขอให้ศาลฯ ประกาศว่าการจัดเก็บภาษีศุลกากรดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงยับยั้งหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลบังคับใช้นโยบายภาษีศุลกากรนี้ พร้อมชี้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถใช้กฎหมายฉุกเฉินต่อเมื่อเกิดภัยคุกคามผิดปกติร้ายแรงจากต่างประเทศเท่านั้น
นอกจากนั้นคำฟ้องเสริมว่าการใช้อำนาจกำหนดการจัดเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูงมากและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลากับสินค้านำเข้าที่ทรัมป์เลือกหรือกับสินค้าที่เขาเห็นว่าสะดวกจะจัดเก็บ ถือเป็นการล้มล้างระเบียบรัฐธรรมนูญและสร้างความวุ่นวายแก่เศรษฐกิจอเมริกา
เลทิเทีย เจมส์ อัยการรัฐนิวยอร์ก ชี้ว่าสภาคองเกรสไม่ได้ให้อำนาจประธานาธิบดีกำหนดการจัดเก็บภาษีศุลกากรเหล่านี้ ดังนั้นฝ่ายบริหารได้ละเมิดกฎหมายด้วยการกำหนดจัดเก็บภาษีศุลกากรดังกล่าวผ่านการออกคำสั่งฝ่ายบริหาร โพสต์บนโซเชียลมีเดีย และออกคำสั่งถึงหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังจะนำสู่ภาวะเงินเฟ้อ ว่างงาน และเศรษฐกิจเสียหายเพิ่มขึ้น หากไม่หยุดการจัดเก็บภาษีศุลกากรเหล่านี้
เคธี โฮชุล โฮชุล ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก กล่าวว่าการจัดเก็บภาษีศุลกากรที่ไม่คิดหน้าคิดหลังของทรัมป์ทำให้ต้นทุนของผู้บริโภคพุ่งสูงขึ้นและก่อให้เกิดความวุ่นวายทางเศรษฐกิจทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดี กุช เดไซ โฆษกทำเนียบขาว ตอบโต้ว่าฝ่ายบริหารยังคงมุ่งมั่นใช้ทุกเครื่องมือที่มี ตั้งแต่ภาษีศุลกากรจนถึงการเจรจา เพื่อจัดการภาวะฉุกเฉินระดับชาติ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมต่างๆ ของอเมริกาและทอดทิ้งคนงานชาวอเมริกันไว้ข้างหลัง
อนึ่ง ทรัมป์ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร ณ ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ (International Emergency Economic Powers Act) เพื่อประกาศภาวะฉุกเฉินระดับชาติและกำหนด "ภาษีศุลกากรตอบโต้" กับคู่ค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ซึ่งนำสู่ความวุ่นวายครั้งใหญ่ในตลาดการเงินจนเกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักจากประชาคมระหว่างประเทศและภายในสหรัฐฯ